ตุ๊กตาแม่ลูกดก “มาตลรีออชคา (Matryoshka )”
แม่สาวที่มีลูกเล็กๆ ซ้อนซ่อนอยู่เป็นพรวน อันเป็นที่มาของชื่อ “แม่ลูกดก” เธอมีนามตามภาษารัสเซียอันเป็นบ้านเกิดว่า “มาตรีออชคา (Matryoshka )” ซึ่งแผลงมาจากชื่อสตรีภาษารัสเซีย “มาตรีโอนา” โดยที่การใส่ตุ๊กตาตัวเล็กซ้อนลงไปหลายๆ ตัวนั้น สำหรับรัสเซีย เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความมีชีวิตยืนยาว นับเป็นเครื่องหมายอันเป็นมงคล
แม่ลูกดกชุดหนึ่งมีตุ๊กตาซ้อนข้างในกี่ตัวก็ได้
ถ้ามีจำนวนมาก ตุ๊กตาตัวใหญ่สุดที่อยู่นอกสุด จะต้องมีขนาดใหญ่มากด้วย และทุกตัวจะมีรูปร่างเหมือนกันหมด คือ คล้ายกระบอก โป่งตรงกลาง ด้านบนโค้งมน ส่วนฐานเรียบ ไม่มีมือหรือส่วนใดยื่นออกมา ใช้สีวาดเป็นหน้าเป็นตาเป็นตัวทั้งหมด แต่ละตัวในชุดมีใบหน้าและเสื้อผ้าเหมือนกัน ทั้งเคลือบเงาสวยงาม
กำเนิดของแม่ลูกดก
เชื่อว่าเมื่อราว พ.ศ.2430 พระชาวรัสเซีย (บ้างว่าเขาเป็นนายช่าง) นำวิชาทำตุ๊กตาไม้ไปจากเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น และเมื่อมาถึงรัสเซียก็ผสมผสานรูปแบบศิลปะท้องถิ่นเข้าไป คือแนวคิดในการซ้อนตุ๊กตาที่คุ้นเคยกันดีในรัสเซีย ประยุกต์เข้ากับงานประดิษฐ์แอปเปิ้ลไม้และไข่อีสเตอร์ จากนั้นตั้งชื่อรัสเซียนไปเนียนๆ ว่า มาตรีออชคา
ร่างแบบตุ๊กตาแม่ลูกดกขึ้นเป็นครั้งแรก
พ.ศ.2434 ศิลปินคนสำคัญ เซอร์เกย์ มาลุยติน ได้ร่างแบบตุ๊กตาแม่ลูกดกขึ้นเป็นครั้งแรก และหลังจากแก้ไขหลายครั้ง สุดท้ายได้รูปแบบที่ตกลงกันคือ วาดเป็นเด็กหญิงหน้ากลมแป้น ตาใสแจ๋ว สวมชุดพื้นเมืองที่เรียกว่า ซาราฟัน (ชุดยาวถึงพื้นมีสายรั้งสองข้าง) และคลุมศีรษะด้วยผ้าสีสดใส แล้วยังมีตุ๊กตาที่เหมือนกันแต่ตัวเล็กกว่าใส่ไว้ข้างในด้วย แต่ตุ๊กตาข้างในแต่งตัวไม่เหมือนกัน กล่าวคือสวมโคโซโวรอตคัส (กระโปรงแบบรัสเซีย) และเสื้อเชิ้ตปอดดิออฟคัส (เสื้อคลุมยาวถึงเอวของผู้ชาย) และผูกผ้ากันเปื้อน จากนั้นจึงให้ช่างแกะสลักชื่อ วาสิลี่ ซเวิสด๊าชกิน ผลิตขึ้น
ปัจจุบันนี้ นอกจากในรัสเซียแล้ว ประเทศอื่น ๆ ที่แยกจากสหภาพโซเวียต เช่น อุซเบกิสถาน ก็มีการผลิตมาตริยอชคาแพร่หลายเช่นกัน ผู้ที่ไปเยือนดินแดนเหล่านี้ มักจะไม่ลืมที่จะเที่ยวซื้อหาตุ๊กตามาตริยอชคาเป็นของที่ระลึกแก่ญาติมิตรตลอดเวลา นอกจากทำเป็นรูปเด็กหญิงแล้วยังมีรูปอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ดอกไม้ โบสถ์ ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางศาสนา เป็นต้น